เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เกิดจากการเรียกร้องการศึกษาของนักเรียนอาชีวศึกษาในสมัยย้อนไปเมื่อ 30ปีก่อน ซึ่งถูกสังคมมองว่าเป็นนักเรียนชั้นสองของสังคม จัดการศึกษาได้เพียงแค่ระดับ ปวส.และการก้าวสู่ระดับปริญญาตรีนั้นจะต้องผ่านการสอบแข่งขันกับนักเรียนสายสามัญ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2518 วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา จึงได้ถือกำเนิดขึ้นตามร่างพระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พุทธศักราช 2518 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เป็นต้นมาโดยมีวัตถุ ประสงค์ เพื่อผลิตครูอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรีให้การศึกษาทางด้านอาชีพทั้งระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับปริญญาตรี และประกาศนียบัตรชั้นสูง ทำการวิจัยส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิชาชีพและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา

ต่อมาวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เปลี่ยนชื่อจากวิทยาลัยมาเป็น วิทยาเขต ตามลำดับ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาได้พัฒนาระบบการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานการศึกษาที่มีคุณภาพและศักยภาพ มีความพร้อมในหลายๆด้าน จนกระทั่งในปี 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งหมายความว่า สถาบันเทคโนโลยีอันเป็นมิ่งมงคลแห่งพระราชา ในวันที่ 15 กันยายน พุทธศักราช 2531 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มีภารกิจหลักคือ จัดการศึกษา (ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับปริญญาตรีและระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต) ทำการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ทำนุบำรุงศาสนาศิลปวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สืบเนื่องจากแนวทางการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจ การบริหารจัดการสู่สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาของรัฐดำเนินการโดยอิสระ และมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษา ดังนั้น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลจึงได้ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับเดิมและยกร่างเป็นพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล โดยมีการรวมวิทยาเขต จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน 9 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์ให้ 9 มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถจัดการศึกษาวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูงที่เน้นการปฏิบัติทั้งในระดับปริญญาตรี โท และ เอก เพื่อรองรับการศึกษาต่อของผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษาเป็นหลัก รวมถึงให้โอกาสแก่ผู้เรียนจากวิทยาลัยชุมชน และการศึกษาขั้นพื้นฐานในการศึกษาต่อวิชาชีพระดับปริญญาตรี ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

การก้าวสู่มหาวิทยาลัยจากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2548 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 พระราชบัญญัติดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 19 มกราคม 2548 มีผลให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2518 ปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลทั้ง  ๙ แห่ง คือ

ราชมงคลทั้ง ๙ ได้แก่

๑. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
๒. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
๓. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
๔. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
๕. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
๖. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
๗. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
๘. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
๙.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วย 4 พื้นที่ได้แก่

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พื้นที่ศาลายา

 วิทยาลัยเพาะช่าง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พื้นที่บพิตรพิมุข จักรวรรดิ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล

ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยดวงตราพระราชลัญจกร ประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 อยู่ภายในวงกลมมีรูปดอกบัว 8 กลีบ เหนือวงกลมมีเลข 9 และพระมหาพิชัยมงกุฎครอบใต้วงกลมมีแถบโค้งรองรับ ภายในบรรจุอักษรชื่อ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงรัตนโกสินทร์”
1.ดวงตราพระราชลัญจกร เลข 9 และ พระมหาพิชัยมงกุฎ สื่อความหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระราชลัญจกรพระจำพระองค์และพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นเครื่องหมายมหาวิทยาลัย
2. รูปดอกบัว 8 กลีบ สื่อความหมายถึง ความสดชื่นเบิกบานที่ก่อให้เกิดปัญญาแผ่ขจรไปทั่วสารทิศ

ดอกบัวสวรรค์ : ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย

สีแดงเลือดนก : เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในศุภดิถี ทรงเจริญพระชนม์มายุครบ 90 พรรษา (C0 M100 Y100 K0)

อัตลักษณ์ : บัณฑิตนักปฏิบัติ
เอกลักษณ์ : ศิลปวิทยาการ สู่สังคม
ค่านิยม : MOVE UP  ยกระดับพร้อมขับเคลื่อน
วิสัยทัศน์ : เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งสังคมการประกอบการ (The leading University of Entrepreneurship)

พันธกิจ (Mission)

  1. ผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การสร้างสรรค์และการจัดการสู่สังคมการประกอบการ
  2. ผลิตผลงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และงานสร้างสรรค์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในระดับชาติและนานาชาติ
  3. เป็นศูนย์กลางบริการวิชาการแก่สังคมที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนและสังคมการประกอบการ
  4. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม รักษาสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาไทย
  5. บริหารจัดการองค์กรด้วยธรรมาภิบาลเพื่อเข้าสู่องค์กรคุณภาพตามเกณฑ์ที่ได้มาตรฐาน
  6. พัฒนาศักยภาพของมหาวิทยาลัยสู่ระดับสากล

ปณิธาณ

เป็นมหาวิทยาลัยแห่งสังคมการประกอบการ

(SMART Entrepreneur)
โดยมีคำจำกัดความของ “SMART Entrepreneur” ดังนี้
                S  =  Service Minded/Science
                M = Morality/Management
                A = Artistic/Academic
                R = Responsibility
                T = Technology/Thainess
” Entrepreneur”   =  ผู้ประกอบการ
Message us